สุขภาพจิตกับผู้สูงวัย

Last updated: 17 ม.ค. 2567  |  515 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สุขภาพจิตกับผู้สูงวัย

สุขภาพจิตกับผู้สูงวัย

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีผู้สูงอายุจำนวนมาก และมีโรคที่มาตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงสุขภาพจิตที่ลดลง ทำให้มีอารมณ์ที่น้อยใจ เครียด กังวล หรือโดดเดี่ยว เป็นต้น ภาวะเหล่านี้ล้วนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆอย่างในชีวิต ทั้งทางร่างกาย อาชีพ คนรอบตัว และอื่น ๆ ดังนั้นการดูแลสุขภาพจิตของผู้ใหญ่ในบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรมองข้าม

สาเหตุ

ภาวะความปรวนแปรภายในจิตใจของผู้สูงอายุเกิดได้จากหลายปัจจัย จนกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากสาเหตุดังต่อไปนี้

·       ร่างกายที่เปลี่ยนแปลง มีความเสื่อมถอยตามวัย ส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น อย่างการพึ่งพาตัวเองไม่ได้ การเจ็บป่วยด้วยโรคที่มาตามวัย และการจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้ไม่ดีอย่างที่ผ่านมา

·       ปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว ความเจ็บป่วยเรื้อรัง ใช้เวลารักษาเป็นเวลานาน และยังต้องติดตามผลของโรคอยู่เสมอ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง กระดูกและข้อ เป็นต้น

·       การทำงานของฮอร์โมนในร่างกายที่ไม่สามารถปรับให้สมดุลได้ดังเดิม ผู้สูงอายุจะคิดถึงเรื่องราวในอดีตซ้ำๆ กลับไปกลับมาทั้งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ในที่สุดจะก่อตัวเป็นความเครียด และแสดงออกให้เห็นด้วยอาการซึมเศร้า หงุดหงิด ขี้ระแวง วิตกกังวล โกรธง่าย เอาแต่ใจ

·       การสูญเสียจากบุคคลอันเป็นที่รักอย่างคู่ชีวิต ญาติหรือเพื่อนสนิท ส่งผลให้ขาดที่พึ่งทางใจ เมื่อความเศร้ากัดกร่อนจิตใจเป็นระยะเวลาหนึ่งผู้สูงอายุจะเกิดความเหงาและเศร้าซึมลงในที่สุด และอาจกังวลไปถึงภาพความตายของตนเองในอนาคตอันใกล้

·       ความเปลี่ยนแปลงของสังคม การปรับสถานะจากผู้นำครอบครัว หรือกำลังหลักในการดูแลสมาชิกหลายคนในบ้านมาเป็น ผู้ได้รับการดูแล ส่งผลให้ผู้สูงอายุรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต และอาจสูญเสียความภาคภูมิใจตนเองไปในที่สุด รวมถึงสถานะทางการเงินที่เปลี่ยนไป และต้องลดทอนบทบาทความสำคัญของตัวเองลงเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งนับเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ผู้สูงอายุต่างต้องปรับตัวปรับใจ

อาการแบบไหนที่ต้องดูแลใกล้ชิด

1. การดำเนินชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป ได้แก่ การรับประทานอาหารผิดปกติ อาจจะรับประทานมากขึ้นกว่าเดิม หรือบางคนรับประทานอาหารน้อยลง เบื่ออาหาร ซูบผอมลง

2. การนอนที่ผิดปกติ อาจจะมีการนอนหลับมากกว่าปกติ เช่น มีอาการง่วง ซึม อยากนอนตลอดเวลา หรือบางคนก็ตรงข้ามคือ นอนไม่หลับ ตกใจตื่นตอนดึกแล้วไม่สามารถหลับต่อได้อีก บางคนอาจมีอาการฝันร้ายติดต่อกันบ่อยๆ

3. อารมณ์ผิดปกติ บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น หงุดหงิดบ่อยขึ้น เคยเป็นคนร่าเริงแจ่มใส ช่างพูด ช่างคุย ก็กลับซึมเศร้า เงียบขรึม เคร่งเครียด ฉุนเฉียว ไม่พูดไม่จา บางคนอาจเคยพูดน้อยก็กลายเป็นคนพูดมาก วิตกกังวลมากขึ้นกว่าเดิมจนสังเกตเห็นได้ และสร้างความลำบากใจให้กับคนรอบข้าง เป็นต้น

4. มีอาการเจ็บป่วยทางกายซึ่งหาสาเหตุไม่พบ เรื่องนี้ผู้ดูแลควรสังเกตให้มาก เพราะโรคบางอย่างยังตรวจไม่พบอาจเป็นอาการแอบแฝงของโรคร้ายแรงบางชนิดได้ เช่น อาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ปวดกระดูก วิงเวียนศีรษะ ปวดท้อง เป็นต้น

แนวทางการดูแลสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุ

1. การให้เกียรติ ยอมรับในการตัดสินใจ ยอมรับบทบาท และให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ เช่น คอยซักถามเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ ชวนคุย เล่าเรื่องสนุกๆ ให้ท่านฟัง

2. หากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ เป็นสิ่งที่ทำแล้วเพลิดเพลิน สิ่งที่ท่านชอบและสนใจที่จะทำ หมั่นทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว กระตุ้นให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ปรึกษาของบุคคลในครอบครัวได้

3. อย่าทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ที่ทำให้คุณต้องแบกภาระเหนื่อยยากในการดูแล

4. หมั่นสังเกตความผิดปกติ และควรสอบถามสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความวิตกกังวล พูดคุย และรับฟัง แลกเปลี่ยนวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ควรให้ผู้สูงอายุเก็บปัญหา หรือความไม่สบายใจไว้เพียงลำพัง

5. ให้ผู้สูงอายุพบปะกับบุคคลที่ชอบหรือคุ้นเคย เช่น ลูกหลาน เพื่อน หรือเพื่อนบ้าน

6. ชวนสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิ ปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้ผู้สูงอายุรู้สึกสดชื่น หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนใจ

 อ้างอิง

โรงพยาบาลนครธน

คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้